ความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่  2 เป็นต้นมา มีองค์การประสานประโยชน์ระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งได้กลุ่ม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือกันทางด้านการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ


กลุ่มผลประโยชน์ระหว่างประเทศด้านการเมือง
องค์การระหว่างประเทศทางด้านการเมืองที่สำคัญได้แก่  องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (North Atlantic
Treaty Organization-NATO) 
สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ เป็นสนธิสัญญาทางการทหาร ของค่ายตะวันตก  หรือค่ายเสรีประชาธิปไตย  มีฐานมาจาก สนธิสัญญาดันเคิร์กและบรัสเซลส์  ที่เป็นความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและ
สหราชอาณาจักร
  เพื่อต่อต้านการรุกรานของนาซีเยอรมัน  และต่อมาเบลเยียมก็ได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย  ใจความสำคัญของ สัญญาฉบับนี้มีว่า  ถ้าเกิดการโจมตีกันขึ้น  ประเทศสมาชิกอื่นจะต้องเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกรุกราน  การเข้าช่วยเหลือนี้สามารถ ใช้กำลังได้  ทั้งนี้  เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงของภูมิภาคใน แถบแอตแลนติกเหนือ องค์การนาโตจัดว่าเป็นความร่วมมือทางการทหาร  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันตัวเองจากการรุกรานของสหภาพโซเวียต  และสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าสู่ยุโรปตะวันตก  สนธิสัญญานี้ได้ลงนามกัน  เมื่อวันที่  4  เมษายน  ค.ศ. 1949  แต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  24  สิงหาคม  ค.ศ. 1949  โดยไม่ได้จำกัดอายุ  เพียงแต่ระบุว่า  หลังจาก  20  ปี ไปแล้ว  สมาชิกมีสิทธิลาออกจากสมาชิกภาพได้  แต่จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา1ปี    ปัจจุบันสมาชิกขององค์การนาโตมี  26  ประเทศ  ได้แก่  สหรัฐอเมริกา  แคนาดา  สหราชอาณาจักร   ฝรั่งเศส  เบลเยียม  เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อิตาลี เยอรมนี เดนมาร์กไอซ์แลนด์  นอร์เวย์ โปรตุเกส กรีซ สเปน ตุรกี โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก  บัลแกเรียเอสโตเนีย  ลัตเวีย  ลิทัวเนีย โรมาเนีย และสโลวาเกีย 

องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ  (Warsaw Treaty Organization)
หรือ กติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) 
เป็นองค์การความร่วมมือทางการทหารของค่ายคอมมิวนิวต์  ซึ่งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก  โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ  และมีสมาชิกทั้งหมดรวม  8  ประเทศ  ได้แก่  สหภาพโซเวียต  เยอรมนีตะวันออก  โปแลนด์  เชโกสโลวะเกีย  ฮังการี  โรมาเนีย  บัลแกเรีย  แอลเบเนีย  ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  14  พฤษภาคม  ค.ศ. 1955  ข้อตกลงสำคัญ ของสนธิสัญญาฉบับนี้  คือ  เพื่อเป็นการป้องกันร่วมกัน  และประเทศภาคีสมาชิกทุกประเทศต่างยินยอมให้กองทัพของสหภาพโซเวียตเข้าไปตั้งในประเทศของตนได้  กติกาสัญญาวอร์ซอ  นอกจากจะเป็นสัญญาทางด้านการทหารแล้ว  ยังเป็นข้อผูกพันทางด้านการต่างประเทศด้วย  โดยประเทศภาคีสมาชิกต่างแสดงเจตจำนงที่จะสร้างสรรค์แนวทางความร่วมมือกันดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ  ซึ่งหมายถึง  การดำเนินนโยบายต่างประเทศขององค์การนี้จะต้องมีสหภาพโซเวียต เป็นผู้นำด้วย  องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงเท่ากับเป็นปฏิกิริยาของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่แสดงการตอบโต้กลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย 
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบ ที่ตามมา  คือ  ประเทศยุโรปตะวันออกต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต  ทั้งนี้ เพราะมีกองทัพของสหภาพโซเวียตอยู่ในประเทศของตน  แต่ต่อมาประเทศสมาชิกหลายประเทศได้พยายามปฏิรูปการปกครองของตนให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น  เช่น  โปแลนด์  โรมาเนีย  เป็นต้น  จึงทำให้กติกาสัญญาวอร์ซอได้ลดบทบาทลง  จนกระทั่งปลาย  ค.ศ. 1991  สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลง  องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงต้อง ยุติลงไปโดยปริยาย

กลุ่มผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
องค์การการค้าโลก  (World  Trade  Organization  -  WTO)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่  2  สถานการณ์ทางการเมืองของโลกเกิดการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ  คือ  สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต  ขณะเดียวกันได้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจและกีดกันทางการค้า  ทำให้ประเทศภาคีสมาชิก  ซึ่งมีสหรัฐอเมริกา  เป็นผู้นำได้รวมกลุ่มภาคีสมาชิกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่  2  และแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้า  เพื่อทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรและการค้า  หรือแกตต์  (General  Agreement  on  Tariffs  and  Trade-GATT) 
เมื่อ  ค.ศ. 1947  การเจรจานี้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งมีการประชุมแกตต์ครั้งที่ 8 ระหว่าง  ค.ศ.  1986-1990  ซึ่งเรียกว่า  รอบอุรุกวัย  (Uruguay  Round)  ซึ่งเริ่มต้นเจรจาที่ประเทศสาธารณรัฐอุรุกวัยในทวีปอเมริกาใต้  ในที่สุดการเจรจารอบอุรุกวัยได้สิ้นสุดลง  ผลการเจรจาส่วนหนึ่ง  คือ  ที่ประชุมเสนอให้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก  (WTO)  จนในที่สุด  เมื่อวันที่  1  มกราคม  1995  องค์การการค้าโลกในระยะเริ่มแรก  มีสมาชิก  81 ประเทศ  สำหรับประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก  เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1995   นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 59 ปัจจุบันองค์การการค้าโลกมีสมาชิกทั้งสิ้น 144 ประเทศ (เดือนมิถุนายน  ค.ศ. 2002)
หน้าที่ขององค์การการค้าโลก
1.  บริหารตามความตกลงและบันทึกช่วยจำที่เป็นผลจากการเจรจาในกรอบขององค์กรการค้าโลก  รวม  28  ฉบับ   โดยผ่านคณะมนตรี (Council)  และคณะกรรมการ (Committee) ต่าง ๆตลอดตนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี
2.  เป็นเวทีเพื่อการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก  ทั้งในรูปของมาตรการภาษีศุลกากร  และมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร
3.  เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก  ถ้าหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ให้จัดตั้งคณะผู้พิจารณา  ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ
4.  ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ  และจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเป็นการตรวจสอบให้เป็นไปในแนวทางการค้าเสรี
5.  ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านข้อมูลและข้อเสนอแนะเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอตลอดจนทำการศึกษาประเด็นการค้าที่สำคัญ ๆ
6.  ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)  และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น
องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออกหรือโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries - OPEC)
ประเทศผู้ริเริ่มจัดประชุมเพื่อจัดตั้งองค์การโอเปก  คือ ประเทศอิรัก ซึ่งจัดให้มีการประชุมที่กรุงแบกแดด  ในระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน ค.ศ.1960  ประเทศที่เข้าร่วมประชุมมี 5 ประเทศ  คือ  เวเนซุเอลาซาอุดีอาระเบีย   คูเวต  อิรัก  และอิหร่าน  ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดตั้งองค์การโอเปกขึ้นโดยที่ตั้งขององค์การเริ่มแรกอยู่ที่เมืองเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ต่อมาจึงย้ายมาตั้งที่  กรุงเวียนนา  ประเทศออสเตรียและได้จดทะเบียนกฎบัตรที่ก่อตั้งโอเปกนี้ไว้กับสำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ  เมื่อ ค.ศ.1962 หลังจากนี้ได้มีประเทศผู้จำหน่ายน้ำมันอื่น ๆ ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก ปัจจุบันสมาชิกโอเปกรวมทั้งสิ้น  11  ประเทศ   คือ แอลจีเรีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา เนื่องจากในปี  ค.ศ. 1992 ประเทศเอกวาดอร์  และในปี ค.ศ.1995  ประเทศกาบองได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพ
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์สำคัญขององค์การโอเปก เพื่อต้องการลดหรือขจัดอิทธิพลของบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนเจาะน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศโอเปกในราคาถูก  ประเทศสมาชิกจึงรวมกลุ่มกันเพื่อควบคุมราคาและกำหนดราคาน้ำมันอีกอย่างหนึ่ง เพื่อภาคีสมาชิกได้ถือกรรมสิทธิ์ในบ่อน้ำมันโดยให้บริษัทต่างชาติ  ทำหน้าที่เพียงขุดเจาะและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเท่านั้น
การบริหารงานขององค์การโอเปกประกอบด้วยหน่วยงาน  4  หน่วยงาน  ดังนี้
1.        ที่ประชุมทั่วไปของประเทศสมาชิก  นโยบายต่าง ๆตลอดจนการตัดสินปัญหาทั้งหมดขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมแห่งนี้ ลักษณะของมติจะต้องเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้ยกเว้นเฉพาะการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งต้องการเสียงรับรอง  จากสมาชิกเก่าเพียง  3  ใน  4  ก็สามารถใช้ได้แต่ประเทศผู้ก่อตั้งทั้งห้า  อันได้แก่  เวเนซุเอลา  ซาอุดีอาระเบีย   คูเวต  อิรัก  และอิหร่าน  เป็นผู้มีอำนาจใช้สิทธิยับยั้ง
2.        คณะมนตรีของผู้ว่าการ  คณะมนตรีเป็นกลุ่มตัวแทนของประเทศสมาชิก โดยประเทศสมาชิกต่างมีสิทธิส่งผู้แทนได้ประเทศละ  1  คน  คณะมนตรีทำหน้าที่ด้านบริการขององค์การเป็นผู้จัดส่งข่าวต่างๆ  เกี่ยวกับสถานการณ์ของน้ำมันในตลาดโลกให้แก่ประเทศสมาชิกทำการวิจัย ปัญหาต่าง ๆทั้งในด้านการตลาดและการนำเทคโนโลยีแบบใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันและส่งข้อมูลให้กับประเทศสมาชิก   การบริหารงานของคณะมนตรี  ประกอบด้วยประธานคณะมนตรี  (วาระละ 1 ปี)  เลขาธิการ  (วาระละ 2 ปี)   และคณะมนตรี
3.        คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ  มีหน้าที่เสนอคำแนะนำแก่  ประเทศสมาชิกและบริษัทน้ำมันต่าง ๆที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้าน้ำมัน
4.        ศาลยุติธรรม  เป็นผู้ว่างระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก
สหภาพยุโรป
การก่อตั้งองค์กรสหภาพยุโรป                               
สหภาพยุโรปเป็นการรวมตัวกันของประเทศในทวีปยุโรป  เพื่อสร้างเสถียรภาพทั้งด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมในภูมิภาค  แนวคิดการสร้างให้เกิดสันติภาพในยุโรปเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกและสงครามระหว่างประเทศในภูมิภาค  ในช่วงแรกเป็นความร่วมมือ  ด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาให้เกิดตลาดเดียว (Single Market)  ซึ่งทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale)  เพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยการยกเลิกพรมแดนระหว่างกัน  ประชาชน  สินค้า  บริการ  และเงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประกอบไปด้วย 27  ประเทศรัฏฐาธิปัตย์อิสระ  27 ประเทศ เป็นที่รู้จักกันในสถานะรัฐสมาชิก: ออสเตรีย เบลเยี่ยม บัลแกเรีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร   ปัจจุบันมีประเทศสมัครเข้าเป็นสมาชิก 3 ประเทศคือ โครเอเชีย มาซิโดเนียและตุรกี ส่วนประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก เช่น แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกรและเซอร์เบีย ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ คอซอวอเองก็ได้สถานะนี้เช่นเดียวกัน
สถานะและความสำคัญของสหภาพยุโรปในสังคมโลก
ด้านการเมืองการปกครอง สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างกระแสและทิศทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม ระดับโลก
ด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรปเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงินและแหล่งที่มาของการลงทุนที่สำคัญที่สุดและเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด
ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีบทบาทสำคัญต่อสังคมโลกมาก  โดยมุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจซึ่งสามารถมีอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆได้  และการรวมตัวในนามสหภาพยุโรปยังได้มีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ  ที่กำลังพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเช่นกรณีประเทศไทย