สงครามเย็น

ความหมายและรูปแบบสงครามเย็น (COLD WAR)
สงครามเย็นมีผลสืบเนื่องมาจากสภาพบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทั้งประเทศผู้ชนะและแพ้สงคราม ได้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทวีปยุโรปซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างยิ่ง ต้องสูญเสียอำนาจและอิทธิพลในสังคมโลกให้กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจมั่นคงจนเป็นหลักในการบูรณะฟื้นฟูประเทศอื่นๆ
สาเหตุของสงครามเย็นเกิดจากการแข่งขันกันของประเทศมหาอำนาจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทำให้สหรัฐอเมริกาเสียหายน้อยกว่าประเทศคู่สงครามในยุโรป ทั้งยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสูง และเป็นประเทศแรกที่สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีความรู้สึกว่าตนเป็นตำรวจโลกเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งวิถีทางประชาธิปไตยและเสรีภาพ
ส่วนสหภาพโซเวียตฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างรวดเร็ว เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติมาก สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ สหภาพโซเวียตต้องการเป็นผู้นำในการปฏิวัติโลกเพื่อสถาปนาระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตามแนวคิดของมาร์กซ์ขึ้น ดังนั้น ทั้งสองอภิมหาอำนาจจึงใช้ความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศต่างๆ เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพล อำนาจ และอุดมการณ์ของตน เพื่อหาประเทศที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันมาเป็นเครื่องถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายตรงข้าม

รูปแบบสงครามเย็น 
การแข่งขันเพื่อความเป็นใหญ่ในยุคสงครามเย็นนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นความสำเร็จของอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายตน ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ชี้ความเสมอภาคของประชาชน เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของแต่ละฝ่ายคือ สำนักงานข่าวสารเผยแพร่ข่าวสาร สำนักงานวัฒนธรรม โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา บางครั้งใช้วิธีการทางการเมืองและการฑูตเพื่อแสวงหาพันธมิตรในการเมืองระดับประเทศ หรือใช้วิธีการเศรษฐกิจแก่ประเทศพันธมิตร ในทางตรงกันข้าม อาจใช้มาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม นอกจากนั้นวิธีการทางทหารนับว่าเป็นวิธีการที่ใช้มากที่สุด มีการสะสมกำลังอาวุธ การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตรด้านกำลังทหาร กำลังอาวุธ จัดส่งเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญทางการทหาร ตลอดจนการส่งกองกำลังของตนเข้าไปตั้งมั่นในประเทศพันธมิตร จนในที่สุดก็ได้ตั้งองค์การป้องกันร่วมกันในภูมิภาคต่างๆ เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (Nato) องค์การสนธิสัญญาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Seato) และกลุ่มกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) วิธีการเผยแพร่อิทธิพลวิธีสุดท้าย คือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ความพยายามแสดงออกถึงความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การคิดค้นอาวุธ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ รวมทั้งโครงการสำรวจอวกาศเพื่อสร้างความศรัทธาแก่ประเทศพันธมิตรและสร้างความยำเกรงแก่ประเทศฝ่ายตรงข้าม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการเผชิญหน้าของสองอภิมหาอำนาจในภูมิภาคต่างๆ เริ่มต้นจากปัญหาความมั่นคงในยุโรป สหภาพโซเวียตขยายอิทธิพลเข้าไปในยุโรปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกกลายเป็นกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์
สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยการประกาศหลักการทรูแมน ในเดือน มีนาคม ค.ศ.1947 ซึ่งมีสาระสำคัญว่าสหรัฐอเมริกาจะได้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งภายนอกและภายในประเทศ รัฐสภาอนุมัติเงินและให้ความช่วยเหลือตุรกีและกรีกให้รอดพ้นจากเงื้อมมือลัทธิคอมมิวนิสต์ ในปีเดียวกันสหภาพโซเวียตได้ตั้งสำนักงานข่าวคอมมิวนิสต์ (Cominform) ขึ้นที่กรุงเบลเกรด ทำหน้าที่เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และเป็นเครื่องมือของสหภาพโซเวียต เพื่อตอบโต้หลักการทรูแมน
สหรัฐอเมริกาพยายามกอบกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปเป็นเป้าหมายต่อไปโดยการเสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ทุกประเทศในยุโรป ตามแผนการมาร์แชล ส่วนประเทศในยุโรปตะวันออกถูกสหภาพโซเวียตกดดันให้ปฏิเสธข้อเสนอของอเมริกา โดยสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกได้ร่วมมือกันจัดตั้งสภาความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจหรือโคมีคอน (Comecon) ด้วยเหตุนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปจึงแยกเป็น 2 แนวทางตั้งแต่นั้นมา
นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้านการเมืองการทหารแก่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้งด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งการตั้งนาโตถือว่าเป็นจุดสำคัญของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต โดยใช้ความร่วมมือทางทหารของกลุ่มประเทศโลกเสรี ส่วนสหภาพโซเวียตก็จำเป็นต้องมีกองทหารไว้ควบคุมเขตอิทธิพลของตน จึงมีการประชุมเพื่อดำเนินการจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกขึ้นที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ก่อให้เกิดกลุ่มกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอ

ผลของสงครามเย็น
นอกจากทวีปยุโรปแล้ว สองอภิมหาอำนาจยังแข่งขันกันในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้สงครามเย็นเพิ่มความตึงเครียด ทวีปเอเซียเป็นอีกเวทีหนึ่งของสงครามเย็น ในแถบตะวันออกไกล จีนเป็นดินแดนที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุด เมื่อจีนคอมมิวนิสต์นำโดยเหมาเจ๋อตุง เป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงครามกลางเมือง ยึดครองแผ่นดินใหญ่ของจีนได้ รัฐบาลจีนคณะชาติซึ่งเป็นฝ่ายโลกเสรีและได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา ต้องหนีไปตั้งรัฐบาลที่เกาะฟอร์โมซา ชัยชนะของจีนคอมมิวนิสต์มีผลกระทบต่อดุลอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ ถือเป็นการพ่ายแพ้ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาและเป็นการเสียดุลอำนาจครั้งสำคัญของโลกเสรี สหภาพโซเวียตและจีนเป็นสองประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ มีทรัพยากรมาก และมีจำนวนประชากรมหาศาล ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจึงตึงเครียดมานับตั้งแต่นั้น
ความขัดแย้งของสงครามเย็นส่งผลให้ประเทศเกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ที่มีอุดมการณ์ต่างกัน กองทัพของประเทศเกาหลีเหนือซึ่งปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ได้ยกข้ามเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือเข้ารุกรานประเทศเกาหลีใต้อย่างฉับพลัน สหประชาชาติจึงมีมติให้สหรัฐอเมริกาและกองกำลังทหารของสหประชาชาติจาก 18 ประเทศสมาชิกเข้าช่วยเกาหลีใต้จากการรุกรานครั้งนี้ จีนส่งกองทัพช่วยเกาหลีเหนือ ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันจนกระทั่ง ค.ศ.1953 จึงมีการทำสนธิสัญญาสงบศึก สงครามเกาหลีก่อให้เกิดความตื่นตัวต่อการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเซีย สหรัฐอเมริกาเห็นความจำเป็นของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเซียอย่างจริงจัง สำหรับประเทศญี่ปุ่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จในวงแคบ เสถียรภาพทางการเมือง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและมาตรฐานสังคมในระดับสูงของประเทศญี่ปุ่น อันเป็นผลงานส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นกำลังสำคัญของโลกเสรีในทวีปเอเซียการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มจากอินโดจีน คือ ประเทศเวียดนาม เขมร และลาว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศส เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นขนานที่ 17 องศาเหนือเป็นเขตแบ่งชั่วคราว เวียดนามเหนืออยู่ใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ มีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ เวียดนามใต้ปกครองระบอบประชาธิปไตย มีโงดินห์เดียมเป็นผู้นำ โดยให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลา 1 ปี เพื่อรวมเวียดนามเป็นประเทศเดียวกัน แต่การเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเกิดการสู้รบระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้
การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในอินโดจีน ทำให้สหรัฐอเมริกานำนโยบายล้อมกรอบการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้ในเอเซียด้วย นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาขณะนั้นประกาศอย่างแข็งขันว่าจะไม่ยอมให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ขยายตัวต่อไป โดยเชื่อมั่นในทฤษฏีโดมิโนว่า ถ้าประเทศใดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ก็จะพลอยเป็นคอมมิวนิสต์ไป จึงได้มีสนธิสัญญาที่กรุงมะนิลาเพื่อจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Seato) ประกอบด้วย 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไทย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ด้วยวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกับนาโต
ในตะวันออกลาง หรือเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกันเอง และระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับกับประเทศอิสราเอล สหภาพโซเวียตฉวยโอกาสขยายอิทธิพลของตนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่ประเทศอิยิปต์ ในการปฏิรูปประเทศในสมัยประธานาธิบดีนัสเซอร์ด้วยการให้เงินสร้างเขื่อนอัสวาน อืยิปต์เป็นผู้นำของกลุ่มประเทศอาหรับที่สหภาพโซเวียตต้องการส่งเสริมอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แพร่หลายในภูมิภาคตะวันออกลาง ฝ่ายโลกเสรีจึงหาทางสกัดกั้นด้วยการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาเซ็นโต หรือองค์การสนธิสัญญากลาง (Central Treaty Organization: CENTO) ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร ตุรกี อิรัก อิหร่าน และปากีสถาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแทรกแซงและขยายอำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้
ส่วนในทวีปแอฟริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ได้รับเอกราช โดยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง ส่งผลให้เกิดการจลาจลแย่งอำนาจระหว่างชนเผ่าต่างๆ คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติจึงมีมติให้ส่งกองกำลังของสหประชาชาติเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในคองโก สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความช่วยเหลือแก่ประธานาธิบดีลูมุมบาของคองโก และนายครุฟเซฟผู้นำสหภาพโซเวียตประณามการแทรกแซงสหประชาชาติ ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในแทนซาเนียด้วยการช่วยเหลือในการสร้างทางรถไฟยาว 1,000 ไมล์ ในขณะที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสได้พยายามรักษาอิทธิพลในแอฟริกา โดยเฉพาะกับประเทศอดีตอาณานิคมของตน
สำหรับประเทศเล็กที่สนับสนุนมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกับที่วางตนเป็นกลางนั้นนอกจากจะมีความมุ่งหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนแล้ว ยังเป็นการสร้างสันติภาพให้แก่โลกด้วย ดังนั้น จึงนำมาสู่นโยบายในการสร้างความมั่นคงร่วมกันในส่วนภูมิภาค” (Regional Collective Security) อันเป็นการสนับสนุนหลักการขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งจะสถาปนาความมั่นคงระหว่างชาติกับนโยบายที่สร้างเขตสันติภาพ” (area of peace) เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดใช้ดินแดนในเขตนั้น เป็นเวทีการแข่งขันเพื่อสร้างอิทธิพลให้แก่ฝ่ายตนซึ่งเป็นการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งรักษาสันติภาพของโลก
กล่าวโดยสรุป แม้สงครามเย็นตั้งแต่ ค.ศ.1945 จะไม่ลุกลามกลายเป็นสงครามอย่างเปิดเผย แต่ก็นำไปสู่ความขัดแย้งระดับวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคขึ้นในหลายแห่งของโลก